เรื่องที่ 5 ทนายซอยรางน้ำ การนับอายุความ คดีครอบครองปรปักษ์ที่ดิน

     

 

 3-9-58  ข่าว มือปืนยิงสมยศ รับเบี้ยวหนี้ปมตาย / รวบหนุ่มนรา สอบพันบึ้ม

วันนี้ PS ThaiLaw.com  ได้รับคำถามนี้ทาง E-mail : Pongrut.ku40@gmail.com  

  • น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64  086-377 9678
  • พี่น้อย  ทนายปราธูป ศรีกลับ  น.บ.ท.64  085-146 3778
  • พี่ชายน้อย  ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย  น.บ.ท.59  061-576 8275
  • พี่เอก  ทนายขัตติยะ นวลอนงค์  น.บ.ท.62  096-815 2471
  • พี่ป้อม ทนายพันศักดิ์ พัวพันธ์  น.บ.ท.64  084-333 6995

จึงช่วยกันเรียบเรียงบทความนี้เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชนครับ

ทนายสมปราถน์  ฮั่นเจริญ  081-9024557   เห็นว่า  การครอบครองปรปักษ์เป็นไปตาม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

มาตรา ๑๓๘๒  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

 

ทนายปิยะวัน  มีสุข  081-7356149  เห็นว่า

1.การครอบครองปรปักษ์ตาม ต้องเป็นทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์ ได้แก่ที่ดินมีโฉนด

2.ที่ดินมือเปล่าที่มีการออกโฉนดที่ดินภายหลัง การนับเวลาตาม ป.พ.พ. 1382 นี้ ต้องเริ่มนับแต่เวลาที่ออกโฉนดที่ดิน จะนำระยะเวลาครอบครองในขณะที่ดินเป็นที่ดินมือเปล่า หรือ มี น.ส.3 มานับรวมไม่ได้  ฎีกา 6462/2548

 

ทนายฟิวส์ กาญจนภัสส์ เตชาพุฒิพงศ์  เห็นว่า

1.การครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ที่ดินนั้นต้องเป็นของผู้อื่น ผู้ครอบครองไม่จำต้องครอบครองโดยรู้อยู่ว่าเป็นที่ดินของผู้อื่นไม่ แม้เข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง ฎีกา 2315/2517 และ 2641/2550

2.การครอบครองต้องมีการแสดงออกซึ่งการยึดถือครอบครองนั้นเพื่อตน ถ้าเป็นที่ดินก็ต้องมีการเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพของที่ดินด้วย

 

ทนายหนูเพียร  สามนต์   090-236 1509  เห็นว่า

1.ต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ โดยไม่ถูกกำจัดออกไป ถ้าเพียงแต่โต้เถียงสิทธิกัน ยังถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบ

2.ถ้าต่างอ้างเป็นเจ้าของ มีการแจ้งความกัน ถือว่าครองครองไม่สงบ

 

ทนายโกวิทย์  แสงสากล  082-456 0857  เห็นว่า

1.การครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ หมายถึงต้องมีการครอบครองทำประโยชน์ใช้สอยทรัพย์นั้นเช่นเดียวกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ มีการขัดขวางมิให้บุคคลอื่นเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้น

2.ไม่เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิหรือ ยอมรับอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์นั้น

 

ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย   เห็นว่า

1.การครอบครอง หรือทำประโยชน์ในที่ดินชั่วคราว มิใช่การครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกัน 10 ปี ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382  

ฎีกาย่อ 5352/2539

จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของบุตรสาวที่ยินยอมให้จำเลยอยู่อาศัยแสดงว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้เจตนาเป็นเจ้าของแม้ครอบครองติดต่อกันนานเกินกว่า10ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตลอดเวลาที่ยังอยู่ในที่ดินนั้นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้รื้อถอนบ้านออกไปจึงไม่ขาดอายุความ

 

2.ครอบครองที่ดินโดยเจ้าของอนุญาตให้อยู่อาศัย หรือเป็นการถือวิสาสะจากเจ้าของที่ดิน ไม่เป็นการครอบครองโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่เป็นปรปักษ์  ฎีกา 5352/2539

การนับเวลาในการครอบครองปรปักษ์

ทนายปราธูป  ศรีกลับ  เห็นว่า

1.การนับระยะเวลา ครอบครองที่ดินติดต่อกัน 10 ปี ตาม ป.พ.พ. 1382 มีคำพิพากษาว่าให้นับระยะเวลาของฝ่ายผู้ครอบครองเท่านั้น  ไม่ต้องดูว่าฝ่ายเจ้าของที่ดินมีการโอนกันหรือไม่       ฎีกา 5086/2538  และ  ฎีกา 1088/2519

 

ฎีกา 5086/2538 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382กล่าวถึงเฉพาะด้านผู้ครอบครองว่าถ้าได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ติดต่อกันนาน10ปีแล้วย่อมได้กรรมสิทธิ์การนับระยะเวลาการครอบครองที่พิพาทของจำเลยในระหว่างที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ ก. ติดต่อมาจนตกเป็นของโจทก์สามารถนับรวมกันได้เมื่อครบกำหนดดังกล่าวจำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์

 

ฎีกา1088/2519

การนับระยะเวลาครอบครองติดต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 กล่าวไว้เฉพาะด้านผู้ครอบครองว่าถ้าผู้ครอบครองได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และครบ 10 ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์มิได้คำนึงถึงฝ่ายผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองแต่อย่างใด แม้จะบัญญัติว่าต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น คำว่า 'ผู้อื่น' ย่อมหมายถึงบุคคลทั่วไปซึ่งมิใช่ผู้ครอบครองปรปักษ์ ฉะนั้นในการนับเวลาครอบครองติดต่อกันตามมาตรานี้ จึงถือเอาระยะเวลาครอบครองของฝ่ายผู้ครอบครองเท่านั้นไม่ต้องพิจารณาถึงตัวเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองว่าจะได้โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองให้แก่ผู้ใดหรือไม่ ทั้งไม่จำต้องถือเอาทางฝ่ายเจ้าของอสังหาริมทรัพย์แต่ละคนที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นเกณฑ์ในการเริ่มนับระยะเวลาใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวเจ้าของ

           ภารจำยอมที่อาจได้มาทางอายุความนั้น มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3บรรพ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลมฉะนั้นการนับระยะเวลาติดต่อกันเกี่ยวกับภารจำยอมโดยอายุความจึงต้องถือเอาการนับระยะเวลาตามเกณฑ์ในมาตรา 1382 มาเป็นหลักเมื่อได้ความว่าโจทก์กับ ส. และเจ้าของที่ดินแปลงอื่นๆ ได้ตกลงกันและทำหนังสือสัญญากันไว้ยอมแบ่งที่ดินของตนฝ่ายละ 1 เมตรทำเป็นทางออกสู่ถนนใหญ่ และโจทก์ก็ได้ใช้ทางนี้เป็นทางเข้าออกตลอดมา ครั้นโจทก์ใช้ทางพิพาทยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยได้รับโอนที่ดินมาจาก ส. โดยจำเลยรู้ถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับ ส. และเจ้าของที่ดินแปลงอื่นๆ ดี ดังนี้แม้สัญญาที่ทำกันไว้จะไม่ผูกพันจำเลยให้จำต้องปฏิบัติตาม แต่การที่จำเลยยังปล่อยให้โจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาโดยไม่โต้แย้งขัดขวางจนรวมเวลาเก่าใหม่เข้าด้วยกันเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภารจำยอมโดยทางอายุความ

           จำเลยเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ย่อมต้องห้ามตามมาตรา 1390มิให้ประกอบกรรมใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเมื่อโจทก์เจ้าของสามยทรัพย์เป็นผู้ลาดพื้นซีเมนต์ทางเดินบนที่ดินของจำเลยซึ่งตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมการที่จำเลยขุดพื้นซีเมนต์ที่โจทก์ทำไว้เป็นหลุมเพื่อทำรั้วและทำให้พื้นซีเมนต์แตกไป จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อมาตรา 1390 และย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตามมาตรา 420 ด้วย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

 

2.หลักสำคัญคือต้องดูเฉพาะด้านผู้ครองครองที่ดิน ไม่ดูด้านเจ้าของที่fbo

3.เว้นแต่ต้องด้วย ป.พ.พ. 1299 วรรคสอง จึงจะเริ่มนับเวลาใหม่

 

ทนายขัตติยะ  นวลอนงค์  เห็นว่า

          การที่ผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมาครบกำหนด 10 ปี แล้ว ได้กรรมสิทธิ์ ถือว่าเป็นการได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม มาตรา 1299 วรรคสอง เช่นกัน

          ดังนั้น ถ้ามีการโอนหลายทอด การรับโอนทอดใดสุจริต เสียค่าตอบแทน การครอบครองก่อนนั้นก็สิ้นสุดลง 

 

 

 

ฎีกา 6663/2538

โจทก์อ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของว.จนได้กรรมสิทธิ์แล้วแต่โจทก์มิได้ดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อมาค. ซื้อที่ดินพิพาทจากว.เมื่อไม่ปรากฏว่าได้ซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่อย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณต่อค. ผู้ซื้อว่ากระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา6ถือว่าค.ซื้อที่ดินพิพาทจากว.โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วโจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันค. ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1299วรรคสองหลังจากนั้นจำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทจากค. จำเลยจะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่อย่างไรโจทก์ผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันจำเลยผู้รับโอนต่อมาได้เพราะสิทธิของโจทก์ผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่ผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตคนแรกแม้โจทก์จะยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาแต่การครอบครองในช่วงหลังที่ค. และจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์มายังไม่ครบ10ปีก็จะถือว่าการครอบครองปรปักษ์ต่อจำเลยครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วไม่ได้คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากค. โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหรือไม่

 

 

ทนายพันศักดิ์  พัวพันธ์  เห็นว่า

          ผู้ที่ครอบครองที่ดินจนได้ปรปักษ์แล้ว แม้ศาลจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์แล้วก็ตามตราบใดที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ย่อมยกขึ้นต่อสู่บุคคลภายนอกผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์โดยสุจริต มีค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ หากยังมีการครอบครองต่อมา ก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่ 

 

ฎีกา 2722/2547

จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1338 โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามคำสั่งศาล แล้วนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนการได้มาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2535 แต่ปรากฏว่าเป็นที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 5087 ที่ได้ออกโฉนดมาตั้งแต่ปี 2496 และมีการโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสายจนถึงโจทก์ โดยโจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2532 โดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต การได้มาของจำเลยเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และในขณะที่จำเลยได้มาโจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5087 จากเจ้าของที่ดินเดิมแล้ว แต่จำเลยยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสองได้ แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 1338 ต่อมาก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่นับแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท เมื่อยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้       

 

น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์ ทนายซอยรางน้ำ ขอตอบคำถามนี้  ดังนี้

1.การนับเวลาครอบครองปรปักษ์ ดูเฉพาะด้านผู้ครอบครองที่ดิน ไม่ต้องดูด้านเจ้าของที่

2.แม้ได้ปรปักษ์ที่ดินแล้ว ตราบใดที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ย่อมยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ที่ได้ที่ดินโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนแล้วไม่ได้

3.อย่าลืมว่า คดีที่ดิน แต่ละเรื่องมีข้อเท็จจริงแตกต่างกันไป ทนายความควรศึกษาข้อเท็จจริงให้ชัดเจน เพื่อโยงหรือปรับกับข้อกฎหมาย  ตามฎีกา 868/2512

 

-PS ThaiLaw  ได้นำฎีกาเต็ม  868/2512  มาลงไว้แล้วครับ

 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  868/2512

นางเล็ก สุกมณี

     โจทก์

นางพิม เข้มแข็ง กับพวกรวม 8 คน

     จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 6, 1299, 1382

 

          ผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดจนได้กรรมสิทธิ์แล้วนั้นเมื่อยังมิได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนทางทะเบียนโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่

          เจ้าของโฉนดจดทะเบียนขายฝากที่ดินแก่บุคคลภายนอกจนหลุดเป็นสิทธิ ผู้ครอบครองปรปักษ์มิได้ต่อสู้ว่าผู้รับซื้อฝากไม่สุจริตย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าผู้รับซื้อฝากนั้นเป็นผู้สุจริต

          ผู้รับโอนที่ดินมีโฉนดโดยเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ซึ่งมีสิทธิดีกว่าผู้ครอบครองปรปักษ์นั้นถ้ามีผู้รับโอนทางทะเบียนต่อจากนั้นมาอีกภายใน 10 ปีนับแต่วันโอนครั้งแรก ผู้รับโอนต่อๆ มาจะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่ ผู้ครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันผู้รับโอนคนใหม่ได้เพราะสิทธิของผู้ครอบครองปรปักษ์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่มีผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตคนแรกแม้ผู้ครอบครองปรปักษ์จะยังคงครอบครองที่ดินตลอดมาเมื่อการครอบครองในช่วงหลังยังไม่ครบ 10 ปี ก็จะถือว่ามีการครอบครองปรปักษ์กับเจ้าของใหม่จนครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วหาได้ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1015/2485)

          หมายเหตุ คำพิพากษาฎีกาที่ 1087-1090/2501 ก็เดินตามแนวนี้

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ 3830 เป็นของนายสุ่มนางตาดสามีภริยา คนทั้งสองตาย นายจันและนายมั้วบุตรรับมรดกทางทะเบียนและปกครองมา ต่อมานายมั้วจดทะเบียนโอนส่วนของตนให้นายจันมีกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว นายจันขายฝากไว้กับนายวัชรินทร์ จันทร์สุวรรณและเด็กหญิงรุ่งเรือง จันทร์สุวรรณ แล้วหลุดเป็นสิทธิ โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายวัชรินทร์และเด็กหญิงรุ่งเรืองโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียน โจทก์จะเข้าทำประโยชน์จำเลยกลับขัดขวางอ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลย ความจริงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อาศัยนายสุ่ม นางตาดและนายจัน ส่วนจำเลยที่ 7-8 เพิ่งเข้าอยู่เมื่อ1-2 ปีมานี้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ขับไล่จำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

          จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ครอบครองที่พิพาทมาโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า 30 ปี จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ซื้อโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 7-8 อยู่โดยอาศัยสิทธิจำเลยที่ 1 และ 5

          ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทมาด้วยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานานจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ซื้อโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยมิได้ครอบครองที่พิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของ แต่อยู่ในฐานะอาศัย ไม่ได้กรรมสิทธิ์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับโอนมาโดยสุจริตหรือไม่ พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ห้ามเกี่ยวข้อง และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายปีละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออก

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยต่างได้ครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทแยกเป็นส่วน ๆ ตามที่ตนครอบครองมาเกิน 10 ปีแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตกเป็นของจำเลยตามส่วนที่แต่ละคนครอบครองมาตั้งแต่ก่อนนายจันเอาที่พิพาทไปขายฝาก

          มีปัญหาว่า โจทก์ผู้รับโอนที่พิพาทโดยทางทะเบียนโดยเสียค่าตอบแทนจะมีสิทธิดีกว่าจำเลยผู้ครอบครองตลอดมาจนบัดนี้ได้หรือไม่ จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ได้รับโอนโดยไม่สุจริต สิทธิทางทะเบียนของโจทก์ใช้ยันจำเลยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง

          คดีฟังได้ว่า นายจันผู้รับมรดกได้โอนขายฝากที่พิพาทโดยทางทะเบียนให้กับนายวัชรินทร์และบุตรมาก่อน เมื่อพ้นกำหนดไถ่คืนแล้ว นายวัชรินทร์และบุตรจึงโอนขายที่พิพาทโดยทางทะเบียนให้โจทก์อีกต่อหนึ่ง แล้วโจทก์ก็มาฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ ตามคำให้การของจำเลยมิได้ต่อสู้ว่านายวัชรินทร์และบุตรซึ่งเป็นผู้ซื้อคนต้นได้รู้เรื่องอยู่แล้วหรือซื้อโดยไม่สุจริตอย่างไร ทั้งการนำสืบก็ไม่ปรากฏ ซึ่งตามกฎหมายมีข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่านายวัชรินทร์และบุตรเป็นผู้สุจริต เพราะฉะนั้นจึงต้องถือว่านายวัชรินทร์และบุตรเป็นผู้สุจริต อันจำเลยจะยกเอากรรมสิทธิ์ที่ได้มาอยู่ก่อนโดยยังไม่จดทะเบียนขึ้นใช้ยันนายวัชรินทร์และบุตรไม่ได้

          มีปัญหาต่อไปว่า หากฟังได้ดังจำเลยอ้างว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยจะยกสิทธิของจำเลยขึ้นใช้ยันโดยเฉพาะกับโจทก์ได้หรือไม่

          ในกรณีดังนี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วตามฎีกาที่ 1015/2485 ว่า ผู้ที่ได้สิทธิในที่ดินมาโดยยังไม่ได้จดทะเบียน ที่ดินนั้นได้มีการโอนทางทะเบียนโดยเสียค่าตอบแทนไปยังบุคคลที่สามผู้รับโอนไว้โดยสุจริต และบุคคลที่สามโอนต่อไปยังผู้รับโอนคนใหม่อีกช่วงหนึ่ง ผู้ได้สิทธิโดยไม่ได้จดทะเบียนจะยกสิทธิของตนขึ้นใช้ยันผู้รับโอนคนใหม่ไม่ได้ ไม่ว่าผู้รับโอนคนใหม่จะซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่สุจริตอย่างใดก็ตาม โดยสิทธิที่ได้ไว้นั้นได้ขาดตอนไปหมดแล้วตั้งแต่มีผู้รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริตคนแรก ดังนั้น ในคดีนี้จำเลยจึงยกเอากรรมสิทธิ์ที่ไม่ได้จดทะเบียนของจำเลยมายันโจทก์ผู้รับโอนช่วงจากนายวัชรินทร์และบุตรผู้รับโอนโดยสุจริตนั้นไม่ได้ ทั้งนับแต่วันที่นายวัชรินทร์กับบุตรรับโอนมาจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่ถึง 10 ปี จะถือว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์กับเจ้าของใหม่ในชั้นช่วงหลังจนครบเวลาได้กรรมสิทธิ์แล้วก็ไม่ได้คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ประการใด โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

          พิพากษายืนในผล

 

 ( เฉลิม ทัตภิรมย์ - ศริ มลิลา - เสลา หัมพานนท์ )

 

-PS ThaiLaw  นำเนื้อหาของเรื่องนี้มาจาก หนังสือ แพ่งพิสดาร เล่ม 4 ของอาจารย์วิเชียร  ดิเรกอุดมศักดิ์  ผู้พิพากษา

 

- หากท่านมีปัญหา เกี่ยวกับคดีต้องการปรึกษาทนายความ    กรุณาติดต่อน้าสิด     ที่เบอร์ 086-3779678    หรือ   E-mail: Pongrut.ku40@gmail.com  นะ