เรื่องที่ 52/2561 อายุความจัดการมรดก ป.พ.พ. 1733 วรรคสอง

     

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64 

โทร (091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ

ทนาย นุ้ย สุพรรณี  สนมศรี  น.บ.ท.71  (082 5422249)  สืบค้นแล้ว มีหลักกฎหมาย ดังนี้

ป.พ.พ. 1733 วรรคสอง  “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น  มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลง”

ป.พ.พ.  มาตรา 1754  ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย [เลข มาตรา 193/27 แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 15? แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535]

1.  บทบัญญัติมาตรา 1733 วรรคสอง  เป็นเรื่อง  “อายุความคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก”  ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1754 เป็นเรื่อง  “อายุความคดีมรดก”  ดูฎีกาที่ 5242/2559

ฎีกาที่ 5242/2559  คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน  กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตราโดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้นมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง  ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย  หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754  วรรคหนึ่ง  แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นทายาทของ ห. และจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก  แต่จำเลยไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาทผู้มีสิทธิอย่างถูกต้อง  จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกโจทก์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิฟ้องคดีภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตามมาตรา 1733 วรรคสอง  หาใช่เป็นเรื่องทายาทฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกระหว่างกันเองซึ่งใช้อายุความตามมาตรา 1754 ไม่  จำเลยโอนที่ดินมรดกเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทในวันเดียวกัน  แม้จำเลยจะนำสืบว่า ข. และ พ. ทายาทไม่มีค่าธรรมเนียมในการรับโอนมรดกที่ดิน  บุคคลทั้งสองจึงตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทน  แต่ก็แสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยังมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกดังกล่าวให้แก่ทายาทอีก  การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น  อายุความจึงไม่เริ่มนับตามมาตรา 1733 วรรคสอง  คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

2.  คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก  เป็นคดีที่ฟ้องผู้จัดการมรดกว่าจัดการมรดกโดยไม่ชอบ เช่น  อ้างว่าผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกหรือแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง  ดู ฎ.4116/2550 , 5242/2559 (ข้างต้น)  โดยอาจมีคำขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก  ดูฎีกาที่ 13505/2553  มี  อายุความ 5 ปี  นับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลง ตามมาตรา  1733  วรรคสอง    ดูฎีกาที่ 3575/2541 , 1584/2545 , 6797/2543

ฎีกาที่ 3575/2541  คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน  กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา  โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคสอง  ส่วนคดีมรดกจะมีอายุความตามมาตรา 1754  แม้กองมรดกนั้นจะมีการตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจจะทำให้สิทธิเรียกร้องขอแบ่งมรดกของทายาทกลายเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้  เมื่อจำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกถูกฟ้องจึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก  อายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1733 วรรคสอง  ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5  มิใช่ผู้จัดการมรดก  แต่เป็นทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาท  เมื่อถูกฟ้องขอให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นคดีมรดก  อายุความจึงอยู่ในบังคับมาตรา 1754

ข้อสังเกต   เรื่องนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจัดการแบ่งมรดกให้ตนเองและจำเลยอื่นโดยไม่แบ่งให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทด้วย   จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น  คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2  จึงถือว่าเป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ 2 จัดการมรดกไม่ชอบ  กรณีจึงอยู่ในบังคับอายุความมรดกมาตรา 1733 วรรคสอง

3.  สรุป  ปัญหาว่าคดีใดเป็นคดีจัดการมรดกหรือคดีมรดกนั้น  มีความเห็น 2 แนว

แนวแรก   เห็นว่า คดีที่ทายาทฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาท  แม้ทายาทนั้นจะเป็นผู้จัดการมรดกด้วย เป็นคดีมรดก  ส่วนคดีที่ทายาทฟ้องให้ผู้จัดการมรดกรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำไป  เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก  เพราะการตั้งผู้จัดการมรดกไม่อาจจะทำให้สิทธิเรียกร้องขอแบ่งมรดกของทายาทกลายเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้  มิฉะนั้นแล้วคดีฟ้องขอแบ่งมรดกในรายที่มีผู้จัดการมรดกทุกคดีก็จะมีอายุความ 5 ปี ตาม มาตรา 1733 วรรคสอง  แทนที่จะมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 (เพรียบ หุตางกูร  คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก)   ความเห็นตามแนวแรกนี้มีฎีกาที่ 1546/2505  สนับสนุน

แนวที่สอง   เห็นว่า คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก  เป็นเรื่องที่ทายาทฟ้องคดีเอาแก่ผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งหมายความรวมถึงการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่กระทำโดยผู้จัดการมรดก  การฟ้องคดีเรียกทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดก  การขอให้เพิกถอนการจัดการมรดก  รวมตลอดถึงความรับผิดอื่น ๆ ของผู้จัดการมรดกที่จัดการมรดกแล้วเกิดความเสียหาย  (ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ  คำอธิบายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ว่าด้วยมรดก)  ความเห็นที่สองนี้มีฎีกาส่วนใหญ่สนับสนุน  เช่น  ฎีกาที่ 15161/2555 , 6797/2543

ฎีกาที่ 15161/2555  โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ น. ผู้ตาย  โดยโจทก์เป็นทายาทผู้สืบสิทธิรับมรดกของ อ. มารดาโจทก์  จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวหาได้แบ่งปันทรัพย์มรดกใส่ชื่อ อ. ด้วยไม่  จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดก  ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง  การที่จำเลยอ้างว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี  ตามมาตรา 1754  ซึ่งเป็นอายุความฟ้องเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจึงไม่ตรงกับเรื่องที่ฟ้อง

ฎีกาที่ 6797/2543  โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1  เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทสำหรับจำเลยที่ 1  จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก  เมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดินสองแปลง  จำเลยที่ 1  ได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไปแล้วถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดในวันดังกล่าว  โจทก์มาฟ้องเกินกว่า 5 ปี คดีย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง  ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3  เป็นบุตรของ ป. เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิได้รับมรดก ย่อมมีความชอบธรรมที่จะรับไว้และครอบครองทรัพย์มรดกได้ด้วยอำนาจของตน  ไม่เข้าข่ายปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกและไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์  เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3  เพื่อเรียกเอาทรัพย์มรดก  จึงเป็นคดีมรดกมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754  โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี  จึงขาดอายุความ

4.  กรณีผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้บุคคลอื่นโดยไม่ชอบ

ปัญหาผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท  ระหว่างทายาทกับบุคคลภายนอกใครจะมีสิทธิดีกว่ากัน  คำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยออกเป็น 3 แนว  อาศัยหลักกฎหมายแตกต่างกัน ดังนี้

แนวที่หนึ่ง  เห็นว่าการที่เจ้ามรดกโอนที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท  ถือว่าผู้จัดการมรดกอยู่ในฐานะลูกหนี้  การโอนย่อมรู้อยู่ว่าทำให้ทายาทซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้เสียเปรียบ  ทายาทจึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้โดยถือว่าเป็นเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 (ฎ.1494/2523)

แนวที่สอง  เห็นว่าเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันที  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทายาทได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม     ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง (กรณีทายาทโดยธรรม)  หรือได้มาโดยนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง (กรณีผู้รับพินัยกรรม)  ซึ่งไม่ว่ากรณีใดก็ถือว่าทายาทอยู่ในฐานะผู้มีสิทธิอันจะให้จดทะเบียนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300  ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์มรดกดังกล่าวได้  ดูฎีกาที่ 13689/2556

ฎีกาที่ 13689/2556  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1  ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับจำเลยที่ 2  และระหว่างจำเลยที่ 2  กับที่ 3  ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย  และตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง  การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300  ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปีตามมาตรา 1733 วรรคสอง  และไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง  คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว

แนวที่สาม  เห็นว่าเมื่อเจ้ามรดกตาย ที่ดินทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท  ดังนั้นทายาทย่อมเป็นเจ้าของที่ดินมรดก  การที่เจ้ามรดกโอนที่ดินมรดกให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทเช่นนี้ ทายาทในฐานะเจ้าของทรัพย์สินจึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากบุคคลภายนอกผู้รับโอนได้อันเป็นสิทธิตามมาตรา 1336  ดูฎีกาที่ 814/2554

ฎีกาที่ 814/2554  แม้ศาลจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1  เป็นผู้จัดการมรดกของ ช.  จำเลยที่ 1  เพียงแต่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แทนทายาททุกคน  และมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทแก่ทายาททุกคนเท่านั้น  แต่ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งห้าตามพินัยกรรมไปขายให้บุคคลใดโดยทายาทผู้ได้รับมรดกไม่ยินยอม  จำเลยที่ 1  จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2  โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า  ส่วนจำเลยที่ 2  แม้จะซื้อที่ดินโดยสุจริต  เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม  จำเลยที่ 2  ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์  ดังนั้น  การที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนจึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336    กรณีไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม  ป.พ.พ.มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น  จำเลยที่ 1  ผู้โอนต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้วและการโอนทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเท่านั้น  เมื่อจำเลยที่ 1  โอนขายที่ดินของโจทก์ทั้งห้าให้แก่จำเลยที่ 2  โดยไม่มีสิทธิและจำเลยที่ 2  รับซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1  ซึ่งไม่มีสิทธิขายแล้ว  แม้จำเลยที่ 2  จะรับโอนมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม  จำเลยที่ 2  ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  (ฎีกาที่ 1971/2551 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)

คงต้องดูกันต่อไปว่าในที่สุดแล้วศาลฎีกาจะวินิจฉัยยุติเป็นบรรทัดฐานไปในแนวทางใด

5.  กรณีผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนเองผู้เดียว

การที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนแต่ผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท  ถือเป็นการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ  เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกตามมาตรา 1733 วรรคสอง  อายุความยังไม่เริ่มนับ  ดูฎีกาที่ 4021/2559

ฎีกาที่ 4021/2559  โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. ว่ากระทำผิดหน้าที่ของตนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนเองเพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งปันให้โจทก์และทายาทอื่น  ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของ ว. และแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่ทายาท  จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคสอง  ที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว  จึงมิใช่การฟ้องคดีมรดกระหว่างทายาทซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754  วรรคหนึ่ง  และวรรคสี่  เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ว. ที่ยังไม่ได้แบ่งปันแก่ทายาท  มีโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว. และทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่มีเพียงที่ดินพิพาทแปลงเดียว  จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมมีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทแก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว.  การที่จำเลยกลับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองเพียงผู้เดียว  จึงเป็นการจัดการทรัพย์มรดกผิดหน้าที่โดยมิได้แบ่งปันให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยมิชอบ  ดังนั้น  ต้องถือว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดอายุความ 5 ปี

6.  ปัญหาว่าการจัดการมรดกถือว่าเสร็จสิ้นเมื่อใด

ถ้าผู้จัดการมรดกได้รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้ทายาท  เมื่อยังไม่ได้แบ่งให้ทายาท  การจัดการมรดกก็ยังไม่เสร็จสิ้น  อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ  ดูฎีกาที่ 5265/2539

ฎีกาที่ 5265/2539  จำเลยที่ 1  ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินมรดกแก่ตนเป็นผู้รับมรดก  ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นอันจะเป็นเหตุให้เริ่มนับอายุความมรดกเพราะเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการที่จะขายเอาเงินมาแบ่งปันแก่ทายาท  การจัดการมรดกจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อได้แบ่งเงินราคาขายกันแล้ว  เมื่อยังไม่มีการแบ่งเงินราคาขายแก่ทายาท  การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นอายุความจึงไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

7.  การที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนหรือผู้อื่นจนหมดสิ้น  ไม่เหลือทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้ทายาทอื่นอีก  ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นลงนับแต่วันดังกล่าว  ดูฎีกาที่ 10140/2559

ฎีกาที่ 10140/2559  ส. มีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทเพียงแปลงเดียวไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดเลย  จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ส. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537  ถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ปันทรัพย์มรดกหรือจัดการทรัพย์มรดกของ ส. เสร็จสิ้นแล้วนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2537  แม้โจทก์ทั้งสี่ไม่รู้เห็นและยินยอมในการที่จำเลยจดทะเบียนรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทในฐานะส่วนตัวก็ตาม

8.  มีคำพิพากษาฎีกาอีกแนวหนึ่งวินิจฉัยว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง  หมายถึง  กรณีการจัดการมรดกเสร็จสิ้นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ถ้าการจัดการมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นลง  เช่นการที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเป็นการจัดการทรัพย์มรดกโดยไม่ชอบ  ถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการอายุความยังไม่เริ่มนับ  ดูฎีกาที่ 6759/2558

ฎีกาที่ 6759/2558  การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727  และมาตรา 1733 วรรคสอง  หมายความถึงมีการจัดการมรดกเสร็จสิ้นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  หากเป็นการจัดการมรดกที่ไม่ชอบ  ไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงอายุความห้าปีตามมาตรา 1733 วรรคสอง  ยังไม่เริ่มนับ

ผู้ตายมีทายาท 4 คน  คือผู้คัดค้านซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย  และบุตร 3 คน  รวมทั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรด้วย  ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินเพียงแปลงเดียว  ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินมรดกเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว  ภายหลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมเพียง 24 วัน ทั้ง ๆ ที่ผู้ตายมีทายาทถึง 4 คน  แล้วนำไปจำนองไว้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น  กรณีนี้ต้องถือว่าผู้ร้องครอบครองมรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น  ผู้ร้องยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้  การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลง  จะนำอายุความห้าปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้

 

PsthaiLaw.com   (091 871 3937)   นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร  ของอาจารย์วิเชียร 

ดิเรกอุดมศักดิ์   มาเรียบเรียงเป็นบทความนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย     น.บ.ท.59      โทร. (097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ          น.บ.ท.65      โทร. (081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี     น.บ.ท.71      โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                     โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                            โทร. (093 2591669)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์                   โทร. (091 8713937)