เรื่องที่ 1 เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามี ภรรยาหรือไม่ ถ้าสามีเป็นคนค้ำประกันเช่าซื้อรถยนต์ให้น้องชาย?

     

18-7-58 ข่าว นายกฯจี้ ผบ.ตร.ไขปมคดีเจ้าสัว คลายเงื่อนงำโอนหุ้น

วันนี้  PS ThaiLaw.com  ได้รับคำถามนี้ทาง E-mail : Pongrut.ku40@gmail.com  

“พี่ต้องรับผิดชอบอย่างไร หากแฟนพี่ไปค้ำประกันการเช่าซื้อรถให้น้องชายของเค๊า แล้วน้องชายไม่ผ่อนชำระ ตอนนี้ไฟแนนซ์จะบังคับคดีแฟนพี่แล้ว ถ้าไม่ผ่อนชำระหนี้จะยึดบ้านสินส่วนตัวของพี่ได้ไหม”

  • น้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์ รัตนพงศ์ น.บ.ท.64  086-377 9678
  • พี่น้อย  ทนายปราธูป ศรีกลับ  น.บ.ท.64  085-146 3778
  • พี่ชายน้อย  ทนายศักดิ์ชาย ทุ่งโชคชัย  น.บ.ท.59  061-576 8275
  • พี่เอก  ทนายขัตติยะ นวลอนงค์  น.บ.ท.62  096-815 2471
  • พี่ป้อม ทนายพันศักดิ์ พัวพันธ์  น.บ.ท.64  084-333 6995

จึงช่วยกันเรียบเรียงบทความนี้เป็นความรู้กฎหมายสู่ประชาชนครับ

 

หลัก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1489 , 1490

มาตรา ๑๔๘๙ ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชําระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

มาตรา ๑๔๙๐ หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้ (๑) ๑๑๘ หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจําเป็นสําหรับครอบครัว การ อุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(๒) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(๓) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทําด้วยกัน

(๔) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

 

ทนายปิยะวัน  มีสุข 081-7356149  เห็นว่า คำถามนี้เกี่ยวกับหนี้ร่วม และสนสมรสจึงให้ข้อสังเกตดังนี้

1.ถ้าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา เจ้าหนี้ฟ้องคู่สมรสคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ในชั้นบังคับคดีก็สามารถยึดสินสมรสได้ทั้งหมด คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะขอกันส่วนไม่ได้ ฎีกา 2725/2528

2.แต่จะยึดสินส่วนตัวของคู่สมรสที่ไม่ได้ถูกฟ้องด้วยไม่ได้ แม้เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา ฎีกา 1652/2522 , 445/2540

 

ทนาย อารดา  ชัยเสนา  081-6625518  ให้ข้อสังเกตว่า

-หนี้ร่วมที่สามีภรรยาต้องรับผิดร่วมกัน ต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น ระหว่างเป็นสามีภรรยาโดยชอบกฎหมาย หากอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่ใช่หนี้ร่วม ไม่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน จึงร้องขอกันส่วนได้ ฎีกา 3156/2525

 

ทนาย ฉัตรกมล  ภมร  085-0375401  เห็นว่า  อย่างไรจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา พิจารณาจาก ป.พ.พ. มาตรา 1490

 

ทนาย โกวิทย์  แสงสากล  082-4560857  เห็นว่า  1490(4) หนี้ที่สามีหรือภรรยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายให้สัตยาบัน น่าจะหมายถึงหนี้ที่สามีค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ของน้องชายสามี แต่ภรรยายินยอมเป็นหนังสือ หรือยอมลงชื่อเป็นพยานในสัญญาค้ำประกันจึงเป็นหนี้ร่วม ตามฎีกา 7631/2552

 

ทนายสมปราถน์  ฮั่นเจริญ  081-9024557  เห็นว่า ภรรยาลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเป็นการให้สัตยาบัน จึงเป็นหนี้ร่วม เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิ์ฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกันให้ชำระหนี้เป็นส่วน ๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ที่ละคนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ ตาม ป.พ.พ.291

 

น้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  091-8713937  เห็นว่า ฎีกาที่ 3425/2545 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยาน และเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ส. แม้ว่าจำเลยที่1 สามี จะมิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว หรือกิจการของครอบครัวก็ตามแต่หนี้ดังกล่าว เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 สามีก่อขึ้นในระหว่างสมรส เพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยจำเลยที่ 2 ภรรยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490(4)

 

ทนายหนูเพียร  สามนต์  090-2361509  เห็นว่า เมื่อเป็นหนี้ร่วม ภรรยาต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้ไฟแนนซ์

 

ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย  061-5768275  ฟันธงว่า เมื่อเป็นหนี้ร่วมภรรยาก็ต้องรับผิดชอบด้วย ไฟแนนซ์จึงยึดสินสมรสได้ แต่จะยึดบ้านสินส่วนตัวของภรรยาไม่ได้ เพราะภรรยาไม่ได้ถูกฟ้องด้วย ตามฎีกา 3425/2545 และ 445/2540

 

ทนายน้อยปราธูป  ศรีกลับ  085-1463778  แนะนำว่าฎีกา 445/2540 ตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนแล้ว

 

PS ThaiLaw.com  ได้นำฎีกา 445/2540 ฉบับเต็ม จากระบบสืบค้นคำพิพากษามาให้แล้วครับ

 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  445/2540

ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน

     โจทก์

นาง สดศรี โชคชัยนิรันดร์

     ผู้ร้อง

บริษัท อุตสาหกรรมคาร์เพ็ทคิง จำกัด กับพวก

     จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 1471, 1490(4)

ป.วิ.พ. มาตรา 282 วรรคท้าย, 288

 

          จำเลยที่2สามีของผู้ร้องได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทบ. แก่โจทก์โดยผู้ร้องได้ให้ความยินยอมในภายหลังและให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำของผู้ร้องเองถือได้ว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่2เป็นผู้ก่อขึ้นในระหว่างสมรสผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแล้วจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1490(4)แต่สินส่วนตัวของภริยาไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นของภริยาซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นทรัพย์สินที่อาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา282วรรคท้ายโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์แม้หนี้ที่จำเลยที่2เป็นหนี้โจทก์จะเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่2กับผู้ร้องโจทก์ก็ไม่มีอำนาจยึดสินส่วนตัวของผู้ร้องเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ได้

 

________________________________

 

          คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอบังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทบอน์นาเฟคดี้ จำกัดศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 20,835,795.82 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 12,444,458.83 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จทั้งนี้จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดไม่เกินวงเงินที่ค้ำประกันไว้ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10253 ถึง10265 แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์รวม 6 เครื่อง ขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 72511 แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครตีราคา 5,250,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2กึ่งหนึ่ง เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา

          ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 72511 แขวงบางบอนเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียว ที่ดินโฉนดดังกล่าวได้แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 25434 ซึ่งนางประพิศ กัลยกร มารดาผู้ร้อง ซื้อมาจากนายวินัย โพธิ์สุข ในราคา 1,070,000 บาท แล้วใส่ชื่อผู้ร้องกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 8 คน เพราะมารดาต้องการยกให้ระหว่างที่ผู้ร้องได้รับการยกให้นั้นผู้ร้องและจำเลยที่ 2 มีเงินเดือน เดือนละ 3,000 บาท ถึง 4,000 บาท และ 8,000 บาทตามลำดับ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวได้ ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72511

          โจทก์ ขาดนัด ยื่นคำให้การ

          ศาลชั้นต้น มี คำสั่ง ให้ยก คำร้องของผู้ร้อง

          ผู้ร้อง อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ ปล่อย ทรัพย์ ที่ ยึด

          โจทก์ ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดที่ 72511 ของผู้ร้องหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดที่ 72511 เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า ที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ข้อเท็จจริงปรากฎตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 12085/2534 ว่า ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2สามีผู้ร้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทบอน์นาเฟคดี้ จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์เป็นเงิน20 ล้านบาทเศษ คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล โจทก์จึงนำยึดที่ดินโฉนดดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของ จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ผู้ร้องจึงได้ร้องขัดทรัพย์ขอให้เพิกถอนการยึดอ้างว่าที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง คดีนี้โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแต่ได้อ้างเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นหนังสือยินยอมให้ทำนิติกรรมทุกชนิดของผู้ร้องเป็นพยานและได้มาศาลในวันนัดสืบพยานผู้ร้องแม้โจทก์จะไม่ได้นำเอกสารดังกล่าวมาถามค้านผู้ร้อง แต่ได้นำมาถามค้านนายขจร อุ้มปรีชา พนักงานธนาคารกสิกรไทย สาขาตลาดพลูพยานผู้ร้อง พยานเบิกความรับรองว่า เป็นหนังสือให้ความยินยอมของผู้ร้องแก่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรม โดยผู้ร้องไม่ได้เบิกความปฏิเสธเอกสารดังกล่าว เอกสารหมาย จ.2 จึงรับฟังเป็นพยานโจทก์ได้ เห็นว่าเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความให้คู่สมรสของผู้ร้องคือ จำเลยที่ 2มีอำนาจทำนิติกรรมทุกชนิดเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสของผู้ร้องตามมาตรา 1477 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และผู้ร้องยังให้ความยินยอมจำเลยที่ 2 มีอำนาจทำนิติกรรมทุกชนิดกับธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด โจทก์คดีนี้ โดยให้ถือเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ร้องเองโดยผู้ร้องได้ลงชื่อเป็นหลักฐานในเอกสารและผู้ร้องได้ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในการทำนิติกรรมก่อหนี้คดีนี้ ผู้ร้องให้ความยินยอมด้วยตรงกับข้อความในเอกสารหมาย จ.2 ปรากฎตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 12085/2534 ว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทบอน์นาเฟคดี้ จำกัด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม2526 ผู้ร้องได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2526 ภายหลังการทำนิติกรรมค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทบอน์นาเฟคดี้ จำกัด แก่โจทก์โดยผู้ร้องได้ให้ความยินยอมในภายหลัง และให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำของผู้ร้องเอง ถือได้ว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2เป็นผู้ก่อขึ้นในระหว่างสมรส ผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(4) แต่สินส่วนตัวของภริยาไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นของภริยาซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นทรัพย์สินที่อาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 วรรคท้าย โจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ แม้หนี้ที่จำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์จะเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 2กับผู้ร้อง โจทก์ก็ไม่มีอำนาจยึดที่พิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ได้

          พิพากษายืน

  

( ปรีชา เฉลิมวณิชย์ - ธีระจิต ไชยาคำ - สถิตย์ สิทธิลักษณ์ )

 

***  หากท่านมีปัญหาเกี่ยวกับคดี ต้องการปรึกษาทนาย กรุณาติดต่อน้าสิด

ที่เบอร์ 086-3779678    หรือ   E-mail: Pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ