เรื่องที่ 55/2561 อายุความฟ้องคดีมรดก ป.พ.พ. 1754 , 1755

     

        มาตรา 1754  ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย [เลข มาตรา 193/27 แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 15ห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535]

        มาตรา 1755  อายุความหนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่   พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ที่ได้ตรวจชำระใหม่   พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   *พระราชบัญญัติเทียบตำแหน่งรัฐมนตรีกับตำแหน่งเสนาบดีแต่ก่อน พุทธศักราช 2475

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีติดต่อน้าสิด  ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์  น.บ.ท. 64     

โทร. (091 8713937)  หรือ อีเมล์ pongrut.ku40@gmail.com  นะครับ

ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์  โทร. (086 1044545)   สืบค้นแล้ว มีหลักกฎหมาย ดังนี้

    A  อายุความตามมาตรา 1754  แบ่งเป็น 3 กรณี  คือ

    1.  กรณีทายาทโดยธรรมฟ้องเรียกทรัพย์มรดก จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก  (มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง)  กรณีเป็นการฟ้องคดีมรดกนั่นเอง  ถ้าหากทายาทโดยธรรมรู้ว่าเจ้ามรดกตายในภายหลัง  อายุความก็เริ่มนับแต่วันได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

    2.  กรณีผู้รับพินัยกรรมฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่ผู้รับพินัยกรรมรู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม มาตรา 1754 วรรคสอง

    3.  กรณีเจ้าหนี้ของเจ้ามรดกฟ้องเรียกหนี้  ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่า 1 ปี เจ้าหนี้ต้องฟ้องภายใน 1 ปี  นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก  (มาตรา 1754 วรรคสาม)

    B  อย่างไรก็ดีสิทธิเรียกร้องทั้ง 3 กรณีนี้  มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย  (มาตรา 1754 วรรคสี่)

    1.  กรณีทายาทโดยธรรมฟ้องเรียกทรัพย์มรดก

    กรณีนี้เป็นเรื่องคดีมรดก  ซึ่งเป็นคดีที่พิพาทกันเกี่ยวด้วยทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกัน  มีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก (มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง)  แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันเจ้ามรดกตาย  (มาตรา 1754 วรรคสี่)

    การฟ้องบังคับตามสัญญาที่ทายาทตกลงกันภายหลังเจ้ามรดกตาย  ไม่อยู่ในกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754  ดูฎีกาที่ 475/2511 (ประชุมใหญ่) , 1645/2520

    ฎีกาที่ 475/2511 (ประชุมใหญ่)  การฟ้องบังคับตามสัญญาว่าจะโอนที่ดินมรดกให้มิใช่ฟ้องขอแบ่งมรดก  จำเลยจะยกอายุความมรดกมาสู้มิได้

    ฎีกาที่ 1645/2520  มรดกไม่มีพินัยกรรมเมื่อเจ้ามรดกตายเกิน 1 ปี แล้วทายาทได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งมรดกกัน  ทายาทมาฟ้องขอแบ่งตามสัญญา  ไม่ใช่ฟ้องในฐานะเป็นทรัพย์มรดก  ไม่อยู่ในอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754

    1.1  ฟ้องเรียกทรัพย์ในฐานะเป็นสินสมรส  ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรานี้  ดูฎีกาที่ 3720/2548

    ฎีกาที่ 3720/2548  โจทก์ได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส  ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสที่โจทก์และ ข. มีสิทธิคนละครึ่งหนึ่ง  เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้ความยินยอมด้วย ข. จึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาทเกินกว่าส่วนของตนให้แก่จำเลยทั้งสองได้

    เมื่อทรัพย์พิพาทส่วนที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งเป็นสินสมรสไม่ใช่ทรัพย์มรดก  จึงไม่อยู่ในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

    C  กรณีที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

    (1)  คดีทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกให้แบ่งทรัพย์มรดก

    “คดีมรดก”  ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง  หมายถึง  คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกันและเป็นการพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์มรดก

    ในกรณีมีผู้จัดการมรดก  การครอบครองทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดกก็เพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก  จึงถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทตราบใดที่ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ   ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการ  ทายาทย่อมมีสิทธิฟ้องผู้จัดการมรดกให้แบ่งปันทรัพย์มรดกได้โดยไม่มีกำหนดอายุความ  กรณีไม่อยู่ในบังคับมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง  ดูฎีกาที่ 7036/2557

    ฎีกาที่ 7036/2557  กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย  หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก  แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น  ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน  แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น  ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดก  ทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้  ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท  จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก  อายุความตามมาตรา 1754  จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก

    1.1  เมื่อถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกเป็นการครอบครองแทนทายาท  แม้ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดก  ให้ตนเองเพียงผู้เดียว  ก็ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาททุกคนอยู่  ทายาทฟ้องแบ่งมรดกได้  ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 1754  ดูฎีกาที่ 1276/2558

    ฎีกาที่ 1276/2558  จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส.  ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้ง 3 แปลงให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว  และถือได้ว่าการที่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าว  เป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. บิดาบุญธรรมของโจทก์  คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

    1.2  เมื่อถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น  การที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกไปให้ผู้อื่นแล้วก็ถือว่าผู้รับโอนครอบครองทรัพย์นั้นแทนทายาทอื่นเช่นกัน  ทายาทจึงฟ้องเรียกทรัพย์มรดกได้โดยไม่อยู่ภายใต้อายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง  ดูฎีกาที่ 5051/2541 , 6214/2539

    ฎีกาที่ 5051/2541  ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ค. เมื่อ ค. ถึงแก่ความตาย  จำเลยที่ 1  ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1  เป็นผู้จัดการมรดก  ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1  เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  จำเลยที่ 1  ได้ใส่ชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทรัพย์มรดก  ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1  ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเช่นเดียวกัน  โจทก์ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ค. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง  โดยไม่มีอายุความ

    (2)  กรณีทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากบุคคลภายนอกหรือจากทายาทที่ไม่มีสิทธิได้รับมรดก

    2.1  คดีมรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง  เป็นกรณีพิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกันด้วยเรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก

    ดังนี้  กรณีทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากบุคคลภายนอกที่ครอบครองทรัพย์มรดกหรือทายาทผู้ไม่มีสิทธิรับมรดก  มิใช่คดีมรดก ไม่อยู่ในกำหนดอายุความมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง  ดูฎีกาที่ 3316/2542

    ฎีกาที่ 3316/2542  คดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หมายความว่า คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก

    จำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดก  และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน  กรณีจึงมิใช่เรื่องโจทก์เรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก  จำเลยย่อมไม่อาจอ้างอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาตัดฟ้องโจทก์ได้

    ฎีกาที่ 2434/2549  โจทก์เป็นบุตรของ ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม      ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของ ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา  1630 วรรคหนึ่ง  เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้  และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน  กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก  จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้  ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

    2.2  การที่ทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งไม่มีสิทธิรับมรดก  มิใช่คดีมรดก  ไม่อยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754  ดูฎีกาที่  69/2559

    ฎีกาที่ 62/2559  ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง  บัญญัติว่า  “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย...” คำว่า  คดีมรดกตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าคดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกัน  ด้วยเรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก แม้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลชั้นต้น แต่จำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย  เมื่อโจทก์เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียว  ไม่ว่าสิทธิของโจทก์ในทรัพย์มรดกของผู้ตายจะเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้วหรือไม่  โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย  การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ให้จำเลยคืนทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายแก่โจทก์  จึงเป็นการที่โจทก์ติดตามเอาทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกได้แก่โจทก์คืนจากจำเลย  ซึ่งไม่มีสิทธิยึดถือไว้  กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก  จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นกล่าวอ้างได้

    (3)  กรณีมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้ว  โจทก์ให้จำเลย (ทายาทคนหนึ่ง)  ครอบครองแทน  ต่อมาโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์นั้นคืนได้โดยอาศัยอำนาจกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1336  ไม่มีกำหนดอายุความ  ไม่อยู่ภายใต้อายุความมาตรา 1754  ดูฎีกาที่ 6325/2559

    ฎีกาที่ 6325/2559  กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน  คดีนี้โจทก์ฟ้องว่ามีการแบ่งปันมรดกกันแล้ว  โจทก์ให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของโจทก์แทน  และฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย  จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้  มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  ดังนั้นแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยเกินสิบปี นับแต่บิดาโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

    (4)  คดีที่มิได้ฟ้องขอเรียกทรัพย์มรดก  ไม่ใช่คดีมรดก  ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754  ดูฎีกาที่ 171/2518 , 4610/2533

    ฎีกาที่ 171/2518  คดีร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก  ไม่ใช่ฟ้องเรียกทรัพย์มรดก  ไม่อยู่ในอายุความ 1 ปี  ตามมาตรา 1754

    ฎีกาที่ 4610/2533  คดีฟ้องขอให้เพิกถอนการจัดการมรดกซึ่งผู้จัดการมรดกจัดการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

    (5)  ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้น  (มาตรา 1748)

    ข้อยกเว้นที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทายาทไม่ต้องฟ้องคดีมรดกภายในหนึ่งปี  คือกรณีทายาทที่ฟ้องขอแบ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นอยู่  โดยมีสิทธิฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ครอบครองได้  ไม่อยู่ในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 (มาตรา 1748)

    ฎีกาที่ 3201/2545  โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ผ. ภายหลังจาก ผ. ถึงแก่ความตายถึง 37 ปีเศษ  จึงพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754  แต่หากโจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748

    ฎีกาที่ 8085/2556  โจทก์ครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ซึ่งเป็นบิดามาตั้งแต่ ส. ถึงแก่กรรมจนถึงปัจจุบัน  การที่ ส. บิดาของจำเลยรับโอนมรดกที่ดินพิพาท  และต่อมาจำเลยบุตร ส. ใส่ชื่อของจำเลยในโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่แบ่งให้โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรม  โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้ล่วงพ้นอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 คดีไม่ขาดอายุความ

    ฎีกาที่ 8371/2557  7404-7405/2538 , 2078/2537  วินิจฉัยทำนองเดียวกัน

    ฎีกาที่ 9992/2560  การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้นไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย  การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเอง ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนผู้อื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย  อายุความตามมาตรา 1754  ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย

    5.1  กรณีการครอบครองของทายาทบางคนเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ทายาทอื่นก็ฟ้องขอแบ่งมรดกเมื่อใดก็ได้  ดูฎีกาที่ 1533/2557

    ฎีกาที่ 1533/2557  อายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754  เป็นกรณีที่ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและทายาทผู้นั้นยังครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนแล้ว  กรณีนี้ทายาทผู้นั้นย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามมาตรา 1748  ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754  ที่ต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี  และการที่ทายาทบางคนได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นแล้ว  แม้ครอบครองแทนนานเพียงใด  หากยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือครอบครอง  ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนอยู่นั่นเอง  เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2  และที่ 3  ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์  และมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง  แม้โจทก์จะฟ้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย  คดีย่อมไม่ขาดอายุความ  และไม่อาจยกเอาอายุความมรดกตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับได้

    5.2  แต่ข้อยกเว้นนี้  เฉพาะฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่ตนครอบครองหรือทายาทอื่นครอบครองแทนเท่านั้น  ดูฎีกาที่ 1368/2510

    ฎีกาที่ 1368/2510  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748  หมายความว่า  เมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีแล้ว  ทายาทที่ครอบครองมรดกเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้เฉพาะทรัพย์ที่ตนครอบครองเท่านั้นเว้นแต่ทรัพย์มรดกนั้นไม่มีทายาทคนใดครอบครองเลย  ซึ่งในกรณีเช่นนี้ทรัพย์มรดกนั้นทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันตามมาตรา 1745  เมื่อ ช. มารดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดินมรดกโฉนดที่ 446 แปลงเดียว  ส่วนที่ดินโฉนดที่ 942 และ 743  จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ครอบครอง ช. ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งเฉพาะที่ดินที่ตนครอบครอง  โจทก์จะอ้างการจัดการมรดกของ ฮ. เป็นการกระทำแทน ช. หาได้ไม่

    ฎีกาที่ 9992/2560  การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น  ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย   การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเอง ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดีเพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย  อายุความตามมาตรา 1754  ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย

    5.3  การครอบครองมรดกต้องมีการครอบครองก่อนขาดอายุความด้วย  จึงจะอ้างมาตรา 1748  มาใช้บังคับได้  ดูฎีกาที่ 1336/2497

    ฎีกาที่ 1336/2497  ทายาทซึ่งไม่ได้ครอบครองมรดกและมิได้เรียกร้องเอาส่วนมรดกภายใน 1 ปี  เพิ่งจะเข้ามาอาศัยอยู่ในที่ดินมรดก ต่อมาภายหลังย่อมหมดสิทธิที่จะรับส่วนมรดกและอาจถูกทายาทผู้ครอบครองมรดกฟ้องขับไล่ได้

    5.4  เมื่อได้ครอบครองก่อนคดีขาดอายุความแล้ว  แม้จะครอบครองนานเพียงหนึ่งเดือนก็ถือว่าได้ครอบครองตามมาตรา 1748 แล้ว  ดูฎีกาที่ 752/2508 

    ฎีกาที่ 752/2508  เจ้ามรดกตาย  ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้ครอบครองร่วมกัน  แม้เพียง 1 เดือน  ก็ถือได้ว่าได้ร่วมกันรับมรดกดังกล่าว  และเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกร่วมกันแล้วเมื่อทายาทฝ่ายหนึ่งมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวนั้น  จึงเป็นการฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์ซึ่งทายาทฝ่ายนั้นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยจะนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้

    5.5   ดังได้กล่าวมาแล้วว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกเพื่อดำเนินการแบ่งให้แก่ทายาท  จึงต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย

    แต่ถ้าทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกเพื่อตนเองมาโดยตลอดจนสิทธิเรียกร้องของทายาทอื่นขาดอายุความไปแล้ว  ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกจึงไปร้องขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกในภายหลัง เพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเท่านั้น  มิใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นด้วย  กรณีเช่นนี้จะถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วยไม่ได้  ดูฎีกาที่ 7449/2544  การพิจารณาในเรื่องนี้จึงต้องดูข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป

    ฎีกาที่ 6460/2538  จำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกตลอดมานับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกิน 10 ปี  โดยโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก  ฉะนั้น  สิทธิเรียกร้องของโจทก์และของผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามตาม     ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย  สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์แล้ว  การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็เพื่อดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น  หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่น ๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปแล้วไม่  ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องสอดจะยกเอาประโยชน์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1748  มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่

    5.6  การที่ทายาท (ซึ่งมิใช่ผู้จัดการมรดก)  บางคนครอบครองทรัพย์มรดก  ไม่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย  ดูฎีกาที่ 15039/2555

    ฎีกาที่ 15039/2555  ผู้ร้องและ จ. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกหลังจากผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  เป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแต่ผู้เดียว  และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นสัดส่วนชัดเจน  จะถือว่าครอบครองแทนทายาทคนอื่นหาได้ไม่  ผู้คัดค้านซึ่งไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดก  ไม่เคยเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดก 1 ปี  นับแต่ผู้ตายถึงแก่ความตายตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง  เพิ่งมาร้องขอให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกหลังจากผู้ร้องได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  จึงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว  สิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกแก่ผู้ร้องและ จ. โดยสมบูรณ์

 

PsthaiLaw.com   (091 871 3937)   นำเนื้อหาจากหนังสือแพ่งพิสดาร  ของอาจารย์วิเชียร  

ดิเรกอุดมศักดิ์   มาเรียบเรียงเป็นบทความนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู่ประชาชน 

ติดต่อ ทนายศักดิ์ชาย  ทุ่งโชคชัย    น.บ.ท.59    โทร. (097 2590623)

ติดต่อ ทนายวิเชียร  สุภายุทธ        น.บ.ท.65     โทร. (081 4559532)

ติดต่อ ทนายนุ้ย สุพรรณี  สนมศรี    น.บ.ท.71     โทร. (082 5422249)

ติดต่อ ทนายพีระพล  กนกเกษมโรจน์                โทร. (086 1044545)

ติดต่อ ทนายหนูเพียร  สามนต์                         โทร. (093 2591669)

ติดต่อน้าสิด ทนายพงศ์รัตน์  รัตนพงศ์                โทร. (091 8713937)